ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว ตอนที่ 3 ทรัพย์สินเงินทองของเธอหรือของฉัน จะเป็นของใครกันเมื่อจากลา
(comments: 0)
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว ตอนที่ 3
ทรัพย์สินเงินทองของเธอหรือของฉัน จะเป็นของใครกันเมื่อจากลา
ศักดา บัวลอย
ด้วยบุพเพสันนิวาสหรือกามเทพที่แผลงศรรักทำให้ชายหญิงหรือเพศเดียวกันมีความรักและผูกพันกันจนได้ตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายมีอิสระในการเลือกดำเนินชีวิตโดยมีสิทธิและหน้าที่ที่ต้องตัดสินใจร่วมกันในหลาย ๆ เรื่อง ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 1 (นิตยสารดี ฉบับที่ 21/2017)
นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้วก็ยังมีเรื่องของทรัพย์สินระหว่างทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าเมื่อยามรักกันนั้นเปรียบได้ดังน้ำผึ้งหวาน มาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันด้วยความผาสุก จะมีใครคำนึงถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของอีกฝ่ายให้เหนื่อยใจเข้าทำนองที่ว่า “ของ ๆ เธอ ก็คือของ ๆ ฉัน เรายินดีแบ่งปันกันใช้” แต่เมื่อความหวานกลับกลายเป็นความขม ความขัดแย้งเรื่องทรัพย์สินไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะได้มาก่อนหรือหลังการจดทะเบียนสมรสก็ตามมักเป็นเหตุให้คู่สามีภรรยาต้องมานั่งถกเถียงกันว่า “นี่คือ ของ ๆ ฉัน ส่วนนั่นคือ ของ ๆ เธอ เราต้องมาแบ่งกัน” ฉบับนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านี้กันครับ มาดูกันว่า “ทรัพย์สินเงินทองของเธอหรือของฉัน จะเป็นของใครกันเมื่อจากลา”
การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกันนั้นไม่ได้หมายความว่า สิทธิและกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ระหว่างคู่สมรสจะตกเป็นของทั้งสองฝ่ายโดยปริยาย คู่สมรสสามารถจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ ได้โดยอิสระตามสิทธิและหน้าที่ของตน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
สินสมรส (Errungenschaftsbeteiligung1)
สินส่วนตัว (Eigengut2)
สินรวม (Gütergemeinschaft3)
การจัดการแบ่งแยกทรัพย์สินของคู่สมรส4 จะกระทำในกรณีดังต่อไปนี้
• เมื่อความสัมพันธ์ของคู่สมรสสิ้นสุดลงโดยการแยกหรือหย่า
• คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต
• คู่สมรสทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างกัน
• การสมรสนั้นเป็นโมฆะโดยคำสั่งศาลเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของคู่สมรส
คู่สมรสใดที่ไม่ได้ทำสัญญาคู่สมรสระหว่างกันให้ยึดถือหลักความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินเป็นไปตามลักษณะโดยทั่วไปของทรัพย์สิน5 (Ordentlicher Güterstand ZGB Art. 181) ซึ่งแยกออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้คือ
สินสมรส (Errungenschaft ZGB Art. 197) ได้แก่
รายได้จากการทำงาน เช่น เงินเดือน เงินปันผล ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจ
เงินฝากประกันเข้ากองทุนสวัสดิการประกันสังคมต่าง ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารดี ฉบับที่ 22/2017)
ดอกผลของสินส่วนตัว (ZGB Art. 206)
ตัวอย่าง ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงมีอสังหาริมทรัพย์ก่อนสมรสมูลค่า 1 ล้านสวิสฟรังก์ (สินส่วนตัว) ต่อมามูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นี้ได้เพิ่มขึ้น ณ ตอนยื่นเรื่องหย่า เป็น 1.2 ล้านสวิสฟรังก์ ส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่ม6 เงินจำนวนสองแสนสวิสฟรังก์นี้ ถือว่าเป็นสินสมรส
สินสมรสนี้ในระหว่างที่สมรสอยู่แต่ละฝ่ายสามารถจัดการทรัพย์สินที่หามาได้ของตนเองโดยอิสระ แต่จะ
นำมาคำนวณเพื่อแบ่งแยกทรัพย์สิน ในกรณีที่การสมรสนั้นสิ้นสุดลงโดยการแยก หย่า หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต (รายละเอียดข้างต้น เรื่องการจัดการแยกทรัพย์สิน )
สินส่วนตัว (Eigengut ZGB Art. 198 Eigengut) ได้แก่
ทรัพย์สินที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอยู่ก่อนการจดทะเบียนสมรส
มรดก ของขวัญ
เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ เช่น รถยนต์ หรือเครื่องจักร
เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามฐานะ
ทรัพย์สินประเภท สินส่วนตัว7 ไม่ต้องแบ่งแก่คู่สมรสอีกฝ่ายเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสสิ้นสุดลง
สัญญาคู่สมรส
การทำสัญญาคู่สมรส (Ehevertrag8) ทั้งประเภทแยกทรัพย์สิน9 (Gütertrennung) และประเภทสินรวม10 (Gütergemeinschaft) สามารถทำได้ก่อนหรือหลังจากการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รูปแบบของสัญญาคู่สมรสจะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการลงนามของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าโนทาร์ (Notar คือ ทนายความที่มีอำนาจรับรองเอกสาร) และถ้าหากต้องการยกเลิกสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงใด ๆ ในสัญญาคู่สมรสนั้นก็จะต้องได้รับการรับรองจากโนทาร์เช่นกัน จึงจะมีผลตามกฎหมาย11 (ZGB Art. 184) สัญญาคู่สมรสที่ทำขึ้นในประเทศหรือจากต่างประเทศ หากมีข้อขัดแย้งกับหลักประมวลกฎหมายประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้วนั้นจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ในกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินต่อศาลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้12
สัญญาคู่สมรส ประเภทแยกทรัพย์สิน (Gütertrennung)
ตัวอย่าง ที่ 1 เรื่องของนายปีเตอร์ (ชาวสวิส) และนางสวย (ชาวไทย) ทั้งสองได้พบรักกันที่ประเทศไทย ก่อนที่จะมาจดทะเบียนสมรสที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ทั้งคู่ได้ทำสัญญาคู่สมรสที่สำนักงานโนทารีพับลิค (Notary Public) ณ สำนักงานทนายความระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ถ้าหากในกรณีหย่า นางสวยจะไม่ขอรับสิทธิเกี่ยวกับเงินค่าเลี้ยงดูหรือทรัพย์สินใด ๆ ของนายปีเตอร์ และจะต้องกลับประเทศไทยหลังจากหย่า นางสวยได้ลงนามยินยอมในสัญญาคู่สมรสนั้น เพราะว่า ตลอดระยะเวลาที่คบหากันมา สวยมั่นใจและคิดว่า ปีเตอร์เป็นคนดี ความรักคงจะไม่มีวันเสื่อมคลายแน่นอน แต่ต่อมาความรักเกิดจืดจาง เป็นเหตุให้ทั้งคู่แยกทางกัน นายปีเตอร์ยื่นเรื่องฟ้องหย่าต่อศาลครอบครัว ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และขออำนาจศาลให้ตัดสิทธิของนางสวยตามสัญญาคู่สมรสที่ได้กระทำจากประเทศไทย ศาลพิจารณาไม่รับคำร้องของนายปีเตอร์ เนื่องด้วยข้อระบุในสัญญาคู่สมรสจากประเทศไทยนั้นขัดต่อประมวลกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งในส่วนของรูปแบบและข้อบังคับต่าง ๆ เรื่องจึงจบลงด้วยดีในตอนท้าย ศาลตัดสินให้นางสวยมีสิทธิต่าง ๆ อันพึงได้ตามกฎหมายจากนายปีเตอร์หลังจากหย่า (บทความเรื่องการหย่า นิตยสารดี ฉบับที่ 22/2017)
ตัวอย่างที่ 2 คู่สมรส นายชาลี (ชาวสวิส) กับนางรวย (ชาวไทย) ทั้งคู่พบรักกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายชาลีเป็นนักธุรกิจใหญ่มีกิจการเป็นของตัวเอง ส่วนนางรวยนั้นเป็นแม่หม้ายลูกติด 1 คน มีทรัพย์สมบัติจำนวนมากจากกองมรดกของสามีเก่าที่ทิ้งไว้ให้ก่อนตาย ทั้งคู่ตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสและสัญญาว่า จะอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่ต้องการมีปัญหาเรื่องทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้องให้วุ่นวายใจ หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วทั้งสองได้ไปที่สำนักงานโนทาร์เพื่อทำสัญญาคู่สมรส เกี่ยวกับข้อตกลงการแยกทรัพย์สินของแต่ละฝ่าย กล่าวโดยสรุปดังต่อไปนี้
เงินลงทุน ผลกำไร ตลอดทั้งหนี้สินของบริษัทนายชาลี นายชาลีเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์และรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
ทรัพย์สินต่าง ๆ ประเภทอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ ตลอดทั้งมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายได้แก่ รายได้ บ้าน ที่ดินในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทย รถยนต์ ตลอดจนของสะสมราคาแพงที่มีมาก่อนและระหว่างการสมรสนั้น ทั้งสองฝ่ายไม่มีกรรมสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ตามที่ระบุไว้ในรายการแจกแจงของทรัพย์สิน13 ณ ปัจจุบัน เอกสารแนบประกอบลงไว้ในสัญญาคู่สมรสเป็นหลักฐานสำคัญ
สัญญาคู่สมรสดังกล่าวตามตัวอย่างที่ 2 นั้นสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย ในส่วนเรื่องสิทธิของคู่สมรส ต่าง ๆ (เรื่องสิทธิของคู่สมรส นิตยสารดี ฉบับที่ 21/2017) ตลอดทั้งเงินฝากสะสมเข้ากองทุนประกันสวัสดิการสังคมเมื่อเกษียณอายุงานและสำหรับผู้อยู่เบื้องหลัง (Alters und Hinterlassenenversicherung; คำย่อ AHV) และเงินฝากเข้ากองทุนเงินสะสมสำหรับผู้ประกอบอาชีพ (Die berufliche Vorsorge; คำย่อ BVG) นั้นยังคงดำรงอยู่ สัญญาคู่สมรสไม่สามารถระบุตัดสิทธิและหน้าที่ในการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามกฎหมายออกไปได้แต่อย่างใด
จากกรณีตัวอย่างเรื่องชีวิตคู่สมรสระหว่างนายชาลีและนางรวย หากเกิดมรสุมชีวิตรักทำให้ทั้งคู่ต้องแยกทางกัน แต่ละฝ่ายก็จะได้เพียงแค่สิทธิค่าเลี้ยงดูตามความเหมาะสมตามกฎหมายและสิทธิในส่วนแบ่งของเงินฝากจากกองทุนสวัสดิการสังคมของแต่ละฝ่ายคนละครึ่งเท่านั้น ส่วนเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายนั้นไม่มี ดังที่ได้ระบุไว้ในสัญญาคู่สมรส
สัญญาคู่สมรสประเภทสินรวม14 (Gütergemeinschaft) คือการที่คู่สมรสตกลงที่จะนำทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายทั้งที่มีมาก่อนและหลังจากการสมรสมารวมกัน โดยระบุในสัญญาคู่สมรสประเภทสินรวม ลักษณะพิเศษของสัญญาคู่สมรสประเภทนี้คือการที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและกรรมสิทธิ์ หรือเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน เช่น รถยนต์ บ้าน ที่ดิน สิ่งของมีค่าต่าง ๆ เป็นต้น สามีหรือภริยาจะจัดการทรัพย์สินรวมนี้โดยลำพังมิได้ เว้นเสียแต่ว่า ได้รับคำยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายเท่านั้น เปรียบได้ดัง “ของ ๆ เธอ ก็คือของ ๆ ฉัน เรายินดีแบ่งปันและจัดการร่วมกัน” ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีคู่สมรส15 ประมาณ 3% เท่านั้น ที่ทำสัญญาคู่สมรสประเภทสินรวมนี้
แม้ว่าความรักนั้นจะไม่มีพรมแดนและศาสนาขวางกั้นก็ตาม แต่ถ้าหากคู่สมรสใดมีความความขัดแย้งกันในเรื่องสิทธิและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่ว่า จะเป็นเรื่องของสินสมรส สินส่วนตัว หรือสินรวมดังกล่าว ถึงขั้นต้องฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาล ผู้ฟ้องเองจำเป็นต้องแสดงหลักฐานให้ชัดเจนต่อศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิและกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินนั้น ๆ ของตน ศาลจะได้พิจารณาพิพากษาและให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป
หากคู่สมรสใดต้องการความมั่นใจเรื่องนี้ก็ควรปรึกษานักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสได้ตลอดเวลาไม่ว่า ก่อนหรือหลังการจดทะเบียนสมรส ถือเป็นการ “กันไว้ก่อนแก้ ไม่ต้องรอให้แย่ แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องโต้เถียงกันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ให้เสียทั้งเงิน เวลา และสุขภาพจิต ดังสำนวนภาษาเยอรมันที่ว่า Rosenkrieg (สงครามกุหลาบ)
ส่วนกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตนั้นจะมีเรื่องการจัดการแบ่งแยกทรัพย์สินของคู่สมรสเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างทายาทในกองมรดกของผู้ตายด้วย ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นโปรดติดตามได้ในตอนที่ 4 เรื่อง “มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่” ถ้าไม่มี (มรดก) จะมีใคร (นับ) หรือเปล่าหนอ....
1ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 197 Errungenschaft
2ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art198 Eigengut nach Gesetz
3ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 221, 222 Gesamtgut; Allgemeine Gütergemeinschaft
4ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 2017 b. Bei Scheidung,Trennung, Ungültigerklärung der Ehe oder gerichtlicher Gütertrennung
5ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 181 Ordentlicher Güterstand und ZGB Zweiter Abschnitt: Der ordentliche Güterstand der Errungenschaftsbeteiligung Art 196 - 220
6ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 206 Merhwertanteil des Ehegatten
7 ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 198 Eigengut
8 ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 182 Ehevertrag
9 ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Gütertrennung ZGB Art. 247 - 251
10 ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Dritter Abschnitt: Die Gütergemeinschaft Art. 221-246
11ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 181 III. Form des Vertrages
12ประมวลกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศแห่งสมาพันธ์รัฐสวิส Bundesgesetz über das Internationale Privatrecht (IPRG) 3. Abschnitt: Ehegüterrecht; Art. 51 Zuständigkeit, Art. 56 Form des Ehevertrages
13 ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 195 Inventar
14ประมวลกฎหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Dritter Abschnitt: Die Gütergemeinschaft Art. 221 - 246
15 อ้างอิงจากหนังสือ Eherecht, S. 96, Karin von Flüe, Beobachter Verlag, 11. Auflage, 2015
Add a comment